Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝึกทักษะการเอาตัวรอดให้ลูกน้อยในวัยประถมต้น

Posted By Plook TCAS | 22 มิ.ย. 66
629 Views

  Favorite

          เด็กในวัยประถมต้นเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการในการเรียนรู้ ช่างจดจำ ผู้ปกครองจึงควรใช้ช่วงจังหวะของชีวิตที่สำคัญนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อลูกน้อย เพื่อลูกของเราจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้บนโลกใบนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เราต้องช่วยกันฝึกทักษะหลายด้านให้ลูก ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว เช่น ฝึกความช่างสังเกต ไม่มองข้ามสิ่งผิดปรกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจนำไปสู่อันตราย ฝึกการตั้งสติเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น เพื่อจะได้ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขนาดผู้ใหญ่เอง บางทีสติก็หลุด แต่หากฝึกลูกไว้ จะเป็นประโยชน์แก่ตัวลูกเอง)  ได้รู้จักและเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อการระวังภัยให้ตนเอง และฝึกการรู้จักเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์คับขัน ฯลฯ

          ทักษะการเอาตัวรอดขั้นพื้นฐานซึ่งมีอยู่หลากหลาย ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรฝึกให้ลูกน้อยมี โดยให้เหมาะสมกับวัย และเป็นสิ่งที่ลูกสามารถใช้ได้ในชีวิตจริงหรือเมื่อเผชิญกับเหตุฉุกเฉิน มาดูกันค่ะ

 

ฝึกทักษะการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน 

          ลูกน้อยชอบการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว พ่อแม่รีบเอาประโยชน์ตรงนี้เลย ชวนลูกเข้าครัวทำกับข้าวง่าย ๆ เช่น ต้มไข่ ไข่เจียว ให้ความรู้กับลูกเรื่องอาหารที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ วิธีการกินเพื่อสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง รวมทั้งการเก็บถนอมรักษาอาหาร วัตถุดิบบางอย่างได้มาจากสวนครัวของเราเอง เช่นพืชผักต่าง ๆ ที่พ่อแม่ลูกช่วยกันปลูกเอาไว้ จะทำให้ลูกมีความสุขและรู้คุณค่าของอาหาร รักธรรมชาติในสวนเล็ก ๆ ของครอบครัว และเห็นว่าการทำสวนครัวเป็นเรื่องง่ายใกล้ตัวและสนุก ได้สัมผัสกับความสวยงามของชีวิตและผลงานการปลูกพืชผัก  เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ลูกไปพร้อม ๆ กัน

          การฝึกให้ลูกรู้จักอุปกรณ์ของใช้ในครัว เช่น มีด กรรไกร ที่เปิดกระป๋อง หินลับมีด ฯลฯ จะเป็นการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัย และการใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม 

 

ฝึกทักษะความเป็นคนช่างสังเกตและช่างจดจำ  

          ทักษะนี้จะช่วยให้ลูกรู้จักระวังภัยหากมีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้น และสามารถป้องกันภัยได้  หากผู้ปกครองพาลูกเดิน นั่งรถไปโรงเรียน ชี้ชวนให้ลูกสังเกตและจดจำเส้นทางและสถานที่ที่ผ่านไป เพื่อช่วยลูกบันทึกภาพจำสิ่งรอบข้างมากขึ้น หรืออ่านป้ายร้านค้า ป้ายบอกเส้นทาง รู้จักฝึกสังเกตความผิดปกติของสิ่งรอบตัว เช่น ผู้คนรอบตัวกำลังวิ่งหนี หรือตื่นตระหนกกับบางสิ่งบางอย่าง รู้จักฟังเสียงรอบข้าง มองดูผู้คน สังเกตอากัปกริยาว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น สังเกตลักษณะคนเมา เมื่อฝึกบ่อย ๆ ลูกจะพัฒนาทักษะด้านนี้ได้อย่างรวดเร็ว ตัวช่วยตัวหนึ่งที่ทำให้ลูกฝึกทักษะความเป็นคนช่างสังเกตได้อย่างสนุกสนาน และเรียนรู้ได้โดยไม่เบื่อหน่าย คือการเล่นเกมการ์ดจับคู่ภาพเหมือนหรือภาพที่เชื่อมโยงกัน การได้เล่นเกม การได้มีความรู้สึกสนุกสนานไปกับคำสอน จะทำให้ลูกซึมซับการเรียนรู้เรื่องนี้ และติดเป็นนิสัยที่นำไปใช้ปกป้องตัวเองได้

 

ฝึกทักษะการดูแลตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน

          สอนลูกให้บอกชื่อนามสกุลของตนเอง ชื่อพ่อแม่ และจดจำหมายเลขโทรศัพท์ของพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู และหมายเลขฉุกเฉินที่จำเป็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือได้ เช่น สถานีตำรวจในย่านที่พักอาศัย หรือชี้จุดสังเกต กำหนดจุดนัดพบเมื่อไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าหรือสวนสนุก ฝึกสอนลูกให้ตั้งสติหากเกิดพลัดหลงกับพ่อแม่ ลูกอาจขอให้ผู้ใหญ่ที่พึ่งพาได้อย่างปลอดภัย เช่น แผนกประชาสัมพันธ์หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย โทร. ติดต่อหาหมายเลขดังกล่าว หรือหากลูกโตพอและจำจุดนัดพบได้ ก็เดินไปรอพ่อแม่ ณ ที่นั้น หรือตั้งสติแล้วอยู่กับที่เพื่อรอให้ผู้ปกครองตามหาจนพบ

          หากติดอยู่ในรถยนต์ ซึ่งอาจเป็นรถบ้านหรือรถโรงเรียน เราต้องสอนลูกให้รู้จักสังเกตลักษณะของส่วนประกอบบางส่วนของรถยนต์ที่ช่วยให้เอาตัวรอดได้ เช่น แตรที่กดให้ส่งเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือ กระจกหน้าต่างรถที่กดปุ่มให้ลดลง เพื่อระบายอากาศและตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ปุ่มปลดล็อคประตูรถ และปุ่มสัญญาณไฟฉุกเฉิน นอกจากนี้นกหวีดยังเป็นอุปกรณ์ที่พกพาได้ง่ายที่อาจให้ลูกติดตัวไว้ และสอนวิธีการเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือในยามคับขัน

          

ฝึกทักษะการรับรู้ การเรียนรู้โลกในสถานการณ์ปัจจุบัน   

          สถานการณ์ต่าง ๆ เช่น โรคระบาดโควิด ไฟฟ้าดับ น้ำท่วม พายุฝน เหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นสิ่งที่เราต้องสอนให้ลูกเรียนรู เข้าใจ ปรับตัว ป้องกันตัว และเอาตัวรอดได้ ตัวช่วยแสนดีซึ่งนอกจากจะเป็นการพูดคุยให้ความรู้กันแล้ว การให้ลูกอ่านหนังสือนิทานภาพเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน จะทำให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและจดจำได้ง่าย เช่นสถานการณ์โควิด ลูกจะรู้จักวิธีป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่  แอลกอฮอล์ การรักษาระยะห่าง หรือการปฏิบัติตนในช่วงไฟฟ้าดับ น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุฝน หรือเมื่อมีคนแปลกหน้ามาที่บ้านขณะลูกอยู่บ้านคนเดียว โดยผ่านเรื่องราวของตัวละครในนิทานแสนสนุกนั้น

 

ฝึกทักษะการสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้น  

          ทักษะการสื่อสารเป็นวิธีคิดลำดับเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเป็นตรรกะ แล้วถ่ายทอดเป็นคำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน เพื่อจัดหาความช่วยเหลือหรือปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที เราอาจให้ความรู้แก่ลูกด้วยการจำลองสถานการณ์จริง เช่น หากมีคนป่วยฉุกเฉินในบ้าน ลูกควรติดต่อหน่วยงานใดโดยเร่งด่วนทางโทรศัพท์ บอกอาการของผู้ป่วย ณ เวลานั้น สถานที่อยู่ของผู้ป่วย หรือฝึกการปฐมพยาบาล หรือหากลูกพบเห็นคนตกน้ำหรือประสบอุบัติเหตุ ลูกควรมีวิธีการสื่อสารบอกผู้ใหญ่ได้โดยละเอียด หรือหากลูกตกน้ำเสียเอง ลูกจะมีวิธีการลอยตัวในน้ำและส่งเสียงร้องเพื่อสื่อสารขอความช่วยเหลือได้อย่างไร และหากลูกได้ทำกิจกรรมจำลองนี้ร่วมกับเพื่อน ๆ จะสนุกยิ่งขึ้น

          ทักษะใกล้ตัวและไกลตัวที่เราพยายามฝึกสอนลูกน้อย นอกจากจะช่วยให้ลูกเอาตัวรอดพ้นจากอันตรายได้แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ลูกเสริมสร้างพัฒนาการชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น ลูกจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความมั่นใจ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผันแปรไป และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นการฝึกทักษะ “การคิดเองเป็น” ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก.

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง    https://www.survivalsullivan.com/survival-skills-for-kids/    47 Survival Skills for Kids to Teach Them ASAP

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow